ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ จัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 8 มิถุนายน 2556 โดยได้รับคำแนะนำจากท่านดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งท่านได้มีการแนะนำ ให้ใช้ข้อมูลสารสนเทศและการจัดการข้อมูล พร้อมกับ  ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น)  แนะนำให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัด” เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง ด้วยการใช้ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ และการจัดเก็บข้อมูล ติดตามสถานการณ์น้ำของจังหวัด ทั้งในฤดูแล้ง และฤดูฝน  ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ระหว่างจังหวัดแพร่กับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่
ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ เป็นศูนย์ฯ แห่งแรกที่มีความร่วมมือทั้ง 3 ฝ่าย ในการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดตามข้อตกลง มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และการบังคับบัญชาที่ชัดเจน การตั้งคณะกรรมการในแต่ละระดับ คือ ระดับคณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัด และคณะปฏิบัติการประจำศูนย์ในการทำงานติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการจัดบุคลากรประจำศูนย์ฯ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดและคณะกรรมการปฏิบัติงาน ส่วนราชการที่มีความเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ การดำเนินงานสามารถรวบรวมข้อมูลของจังหวัดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาจังหวัดและการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลได้
 ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ เป็นศูนย์ที่รวบรวมข้อมูลของจังหวัดในด้านต่างๆ เพื่อบริหาร จัดการตามศักยภาพและพัฒนาจังหวัดในการตอบสนองความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและรักษาระบบนิเวศน์ของจังหวัด การนำข้อมูลจากพื้นที่ต่างๆ มารวบรวมจัดเก็บ เพื่อจัดทำสมดุลน้ำ ผังน้ำของตำบล อำเภอและลุ่มน้ำ เพื่อใช้ในการทำแผนการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ

บทบาทหน้าที่

           ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่มีการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 6 ด้าน ประกอบไปด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต (เกษตร/อุตสาหกรรม)
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การจัดการคุณภาพน้ำ
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การบริหารจัดการ
ซึ่งจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลตามกรอบ 6 ด้าน เพื่อนำมาจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการของจังหวัด ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ และบริบทของจังหวัด ให้มีกลไกลขับเคลื่อนการทำงานได้ทุกมิติ  ภาคท้องถิ่นสามารถจัดทำข้อมูลในระดับหมู่บ้าน ตำบล    ลุ่มน้ำ รายงานข้อมูลในพื้นที่ได้ดี มีการเชื่อมโยงประสานการทำงาน ข้อมูลระหว่างภาคส่วนราชการกับท้องถิ่นต่างๆ ในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้     การแก้ปัญหายังต้องอาศัยราชการส่วนกลางดำเนินการสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศของสถาบันทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ในการให้ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของแต่ละจังหวัดช่วยให้การทำงานของแต่ละจังหวัดมีความชัดเจนและเป็นระบบระเบียบมากขึ้น สามารถกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ในการวิเคราะห์แก้ปัญหาด้านข้อมูล เชิงภาพถ่ายดาวเทียม การพยากรณ์อากาศประจำวัน การพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 7 วัน
ปริมาณน้ำฝน ความชื้นของดิน ทิศทางลม การเปลี่ยนแปลง สภาพความกดอากาศ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลในการประกอบการคาดการณ์ภัยแล้ง อุทกภัยและภัยพิบัติของจังหวัด ที่จะเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพทันต่อเหตุการณ์
ในแต่ละปีของจังหวัดแพร่ ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาที่ชาวแพร่ประสบอยู่ตลอด เห็นได้จากความต้องการใช้น้ำทุกๆ ด้านของจังหวัดแพร่ ประมาณ 1,625 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปี 2561 จังหวัดแพร่มีศักยภาพในการเก็บกักน้ำเพียง 217 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ สอดคล้องกับลำดับตัวชี้วัดที่มีปัญหาของจังหวัดแพร่ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ เมื่อพ.ศ. 2554 พบว่า ความต้องการของประชาชนจังหวัดแพร่ ในเรื่องน้ำอยู่ในอันดับต้นๆ ด้วยสภาพป่าต้นน้ำในปัจจุบันถูกทำลาย ทำให้ป่าดูดซับน้ำได้ในปริมาณน้อยลง ในทางกลับกันปริมาณน้ำได้ไหลบ่าจากพื้นที่ป่ากับมีมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดปัญหาน้ำหลากในฤดูฝน การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือ และการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมาจังหวัดแพร่ได้เล็งเห็นความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอด เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจะต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องมีการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการร่วมกัน จึงได้ให้ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เช่น น้ำต้นทุน และความต้องการน้ำ เป็นต้น การบูรณาการร่วมกันทั้ง  ด้านข้อมูล งานโครงการ งบประมาณ ความรู้ด้านวิชาการและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ปัญหาน้ำ ทั้งอุทกภัย และภัยแล้ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด
            ในปี 2561 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ร่วมกับมูลนิธิใจกระทิง  ได้ร่วมดำเนินการโครงการพัฒนาสู่ความมั่นคงน้ำและบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 4 แห่ง โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จครบทั้ง 4 แห่ง ดังนี้
  1. ชุมชนบ้านแม่ขมิง ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • งานขุดสระเก็บน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตร ขนาดกว้าง 40.00 ม. ยาว 40.00 ม. ลึกเฉลี่ย 3.00 ม
  • งานก่อสร้างฝายกล่องแกลเบี๊ยน ขนาดความสูง 1.50 ม. ความยาวตัวฝาย 14.00 ม.
  • งานก่อสร้างถังพักน้ำแบบท่อบ่อซีเมนต์สำเร็จ ขนาด Ø 20 ม. จุดละ 48 ท่อน  รวม 2 จุด
  • งานวางระบบท่อส่งน้ำดิบ ท่อ PVC ชั้น 8.5 ขนาด Ø 3 นิ้ว ความยาว 3,700 เมตร
  • งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับหน้าบล็อกคอนเวิตส์ 3 ช่อง ลำห้วยปะยางตอนล่าง
  1. อ่างเก็บน้ำแม่ติ๊ก ชุมชนบ้านบุญเริง หมู่ที่ ๔ ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่
  • งานสร้างคันยกระดับน้ำ ขนาดความยาว 24 เมตร ความกว้าง 6 เมตร สูง 1 เมตร
  • งานวางระบบท่อส่งน้ำพร้อมบ่อพัก พร้อมประตูระบายน้ำ 1 ชุด ยาว 100 เมตร จำนวน 2 จุด
  1. ชุมชนตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่
  • งานก่อสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็กลำห้วยแม่สอง ขนาดฝายกว้างขวางลำห้วย 30 เมตร สูง 2 เมตร พร้อมงานติดตั้งประตู 1 บาน
  1. ชุมชนบ้านเหล่าเหนือ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
  • งานเสริมประสิทธิภาพระบบกรองน้ำเพื่อบริโภคของหมู่บ้าน 1  ระบบ
  • งานเสริมสปริงเวย์อ่างเก็บน้าห้วยป้อม ด้วยการก่อสร้างฝาย คสล. ขนาดกว้าง 12 ม.
  • งานซ่อมแซมประตูน้ำ 1 จุด
           องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์และกองทัพบก ได้ร่วมดำเนินการโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2560 – 2561 จำนวน 5 โครงการ ดังนี้
1. โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำบ้านใหม่จัดสรร ตำบลร้องเข็ม อำเภอร้องกวาง ดำเนินการแล้วเสร็จ 100 %
2. โครงการขุดลอกห้วยผักหนาม ตำบลแม่ยางฮ่อ อำเภอร้องกวาง ดำเนินการแล้วเสร็จ 100 %
3. โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำร่องผา ตำบลน้ำชำ อำเภอสูงเม่น อยู่ระหว่างดำเนินการ 20%
4. โครงการขุดลอกห้วยขึม ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวาง อยู่ระหว่างดำเนินการ
5. โครงการขุดลอกห้วยหิน ตำบลห้วยม้า อำเภอเมือง อยู่ระหว่างดำเนินการ