คำนำ

คำแถลงนโยบายฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ.ศ.๒๕๔๐ และแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. ๒๕6๒ มาตรา 35/4 บัญญัติไว้ว่า ก่อนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้ารับหน้าที่ให้ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด  ดังนั้น กระผมจึงได้จัดทำนโยบายเพื่อแถลงต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ของกระผมที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการปกครอง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวจังหวัดแพร่ทุกคน ในการจัดทำนโยบาย กระผมได้นำแนวทางจากกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 - 2564) ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมุ่งให้สังคมไทยมีคุณภาพและมีความเป็นธรรม สำหรับทุกคนในสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นการพัฒนาที่เกิดจากการผนึกกำลังในการผลักดันขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วน (Thailand 4.0) โดยจะดำเนินการให้การบริการสาธารณะแก่ประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ในการจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนเป็นสำคัญและเต็มความสามารถอีกทั้งประสานความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และตามที่กฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจขององค์การบริหารส่วนจังหวัด นอกจากนี้ยังได้นำยุทธศาสตร์ของจังหวัดแพร่ ภายใต้วิสัยทัศน์ “เมืองเศรษฐกิจมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์”วิสัยทัศน์การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ “ท้องถิ่นน่าอยู่ คุณภาพชีวิตดี มีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นเลิศ”และวิสัยทัศน์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ “เมืองแห่งการเรียนรู้ คู่คุณภาพชีวิตที่ดี มีความรักในถิ่นกำเนิด เชิดชูวัฒนธรรมล้านนา” รวมถึงการนำนโยบายเดิมที่ได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ในคราวก่อนมาดำเนินการร่วมกับนโยบายที่ได้จัดทำในครั้งนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการพัฒนาและเพื่อการประสานงานกันระหว่างจังหวัดแพร่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ ให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน และสนองความต้องการของประชาชน ในการที่จะร่วมแก้ไขปัญหาของประชาชนชาวจังหวัดแพร่ให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญของปัญหาแต่ละประเด็น จนปัญหาได้ถูกแก้ไขหมดสิ้นไปในที่สุด กระผมตั้งใจอย่างแน่วแน่ และจริงใจอย่างยิ่ง ที่จะนำนโยบายที่ได้แถลงในวันนี้ไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ทุกประการ

นายอนุวัธ  วงศ์วรรณ

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่

คำแถลงนโยบาย

ของ

นายอนุวัธ  วงศ์วรรณ

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่

แถลงต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่

วันอังคาร ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

---------------------------------------------------------

ท่านประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ที่เคารพ ตามที่ได้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 และแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2562 กระผมได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน จังหวัดแพร่ให้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดดังกล่าว มาตรา 35/4 ได้บัญญัติไว้ว่า ก่อนที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะปฏิบัติหน้าที่ จะต้องแถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังนั้น กระผมจึงได้จัดทำนโยบายการพัฒนาและการบริหารขึ้น โดยปรับปรุงนโยบายเดิม และเพิ่มเติมนโยบายใหม่ ซึ่งจะได้แถลงนโยบายการพัฒนาและการบริหารต่อที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ในครั้งนี้ ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ กระผมได้ดำเนินการกำหนดนโยบายการพัฒนาให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 – 2580 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 - 2564) อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 แผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดแพร่ และมุ่งเน้นตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนจังหวัดแพร่ ตลอดถึงได้กำหนดนโยบายให้สอดคล้องสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันของจังหวัดแพร่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ตลอดถึงระดับชาติ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ในจังหวัดแพร่ ซึ่งมีพื้นที่พัฒนาครอบคลุมทั้งจังหวัดแพร่ มีทรัพยากรที่มีศักยภาพทางการบริหารที่สามารถใช้ในการบริหารการพัฒนาอันได้แก่ บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ งบประมาณในการพัฒนาที่รัฐบาลจัดสรรให้และที่ได้จากการจัดเก็บภาษี วัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ตลอดถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หลายแห่งที่พร้อมร่วมปฏิบัติงานเพื่อการพัฒนา และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น ทรัพยากรทางการบริหารเหล่านี้ กระผมเห็นว่า จะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการบริหารการพัฒนาให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ สามารถดำเนินการพัฒนาตามบทบาทหน้าที่ให้บรรลุถึงการมีสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ดี เจริญก้าวหน้า ทำให้ประชาชนในจังหวัดแพร่ มีความอยู่ดีกินดี ดังวิสัยทัศน์องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ “เมืองแห่งการเรียนรู้ คู่คุณภาพชีวิตที่ดี มีความรักในถิ่นกำเนิด เชิดชูวัฒนธรรมล้านนา” ในการดำเนินการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น กระผมจึงได้กำหนดนโยบายการบริหารและการพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป โดยกำหนดนโยบายการพัฒนา ดังนี้
  1. นโยบายด้านการพัฒนาการศึกษา
การพัฒนาการศึกษาเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเราให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม และสามารถคิด พูด และกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาทุกด้าน ที่ก่อประโยชน์ให้แก่คนในชุมชนท้องถิ่น การศึกษาเป็นการพัฒนาคนให้สามารถปรับตัวได้ดีในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมและในการปฏิบัติงาน กระผมได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการศึกษาดังกล่าว จึงได้กำหนดนโยบายการพัฒนาการศึกษา โดยจะดำเนินการ ดังนี้ 1.1 มุ่งพัฒนาเยาวชนผ่านการเรียนรู้คู่คุณธรรม นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม สามารถนำความรู้ไปดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข 1.2 จัดตั้งลานสร้างสรรค์เยาวชน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชน เรียนรู้เทคโนโลยี ทันโลก ทันเหตุการณ์ รวมถึงสนับสนุนการกีฬาตามความต้องการของเยาวชน ส่งเสริมกีฬารูปแบบใหม่ตามโลกยุคใหม่ เช่น การจัดทำสนามเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ (E-sport stadium) เพื่อเรียนรู้ทักษะการเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์ การส่งเสริมนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ เรียนเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์อิเล็กทรอนิกส์ โดยทุกกิจกรรมจะมีผู้ฝึกสอนที่มีความรู้ ความสามารถแนะนำและให้คำปรึกษา 1.3 สนับสนุนกิจการสภาเด็กและเยาวชน, นักศึกษาวิชาทหาร, ลูกเสือ, เนตรนารี, ยุวกาชาด เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็น มีเวทีแสดงความสามารถต่างๆ 1.4 จัดการศึกษาอย่างต่อเนื่องทุกโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา และมีคุณภาพ 1.5 ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาในทุกระบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ตามความถนัดและโอกาสการเรียนรู้ของแต่ละคน 1.6 ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาในทุกระดับ ได้แก่ การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับอาชีวศึกษา การศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องในระดับที่สูงขึ้น  โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 1.6.1 จัดให้มีทุนการศึกษาตามที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ 1.6.2 ศึกษาหาแนวทางช่วยเหลือผู้สำเร็จการศึกษา ได้มีอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว 1.6.3 เชื่อมโยงสถาบันการศึกษาทุกระดับ กับสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เด็ก เยาวชน ในจังหวัดแพร่ มีโอกาสเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น 1.7 ส่งเสริมและสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้เพื่อการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย 1.8 จัดตั้งศูนย์เยาวชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อการเรียนรู้ ช่วยเหลือสังคมและเป็นคนดีของสังคม 1.9 ช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่ครอบครัวยากจน แตกแยก ตลอดจนประสบปัญหาต่างๆ ให้สามารถเรียนได้ตามที่ต้องการ โดยการจัดทุนสนับสนุนการศึกษา 1.10 จัดตั้งคณะกรรมการสภาที่ปรึกษา ด้านการศึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เพื่อให้คำแนะนำ ร่วมดำเนินการวางแผนหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่
  1. นโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ
การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนจังหวัดแพร่ได้อยู่ดีมีสุข และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และสามารถดูแลคนในครอบครัว ตลอดถึงมีรายได้เสริม เป็นสิ่งที่กระผมต้องการให้เกิดขึ้นกับประชาชนชาวแพร่ และเห็นว่าเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการให้บรรลุถึงความอยู่ดีกินดีของประชาชนจังหวัดแพร่ได้ โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 2.1 ส่งเสริมการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน โดยสร้างงานและสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว และการจัดตลาดกลาง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ 2.2 ส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัด โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 2.2.1 ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่ดึงดูดให้มีผู้มาท่องเที่ยวจังหวัดแพร่เพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดประชุม อบรม สัมมนา และการแข่งขันกีฬา ตามที่ระเบียบ กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ 2.2.2 สนับสนุนให้เกิดหมู่บ้านท่องเที่ยวให้มากขึ้นตามศักยภาพของพื้นที่ ร่วมกับสมาคม และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้เขตเมืองเก่าเป็นเมืองมรดกโลก เชื่อมโยงการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวนวัตวิถี การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ของแต่ละพื้นที่ให้เกิดรายได้และเศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น 2.3 ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ประชาชนได้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน 2.4 ส่งเสริมการประกอบอาชีพหัตถกรรมท้องถิ่น เพื่อเพิ่มรายได้แก่ผู้ประกอบอาชีพ 2.5 ส่งเสริมการประกอบอาชีพภาคเกษตรกรรม การตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิตการเกษตร และเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการส่งเสริมการแปรรูป โดยเชื่อมโยงกับสหกรณ์ภาคการเกษตร 2.6 ส่งเสริมการทำเกษตรคุณภาพสูง ลดต้นทุนการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น มีผลตอบแทนที่คุ้มค่า ร่วมกับหน่วยงานราชการและเอกชนในการดำเนินการ เช่น การขยายโครงการเกษตรปลอดภัยให้กว้างขวางและทั่วถึงให้มากขึ้น ตามความต้องการของตลาด และปรับปรุงเส้นทางคมนาคมให้เข้าถึงพื้นที่การเกษตรอย่างทั่วถึง 2.7 ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลทางเศรษฐกิจเพื่อการลงทุนในทุกมิติ เพื่อเป็นการชักชวนนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมาลงทุนในจังหวัดแพร่ 2.8 ส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ ซึ่งทำด้วยไม้สักและไม้อย่างอื่น ที่ถูกต้องตามกฎหมายให้มีคุณภาพ เน้นให้เป็นเอกลักษณ์ และความมีชื่อเสียงของจังหวัดแพร่ 2.9 จัดตั้งคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เพื่อให้คำแนะนำร่วมกันในการวางแนวทางและแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ
  1. นโยบายด้านพัฒนาสังคมและสาธารณสุข
สังคมเป็นการอยู่ร่วมกันของคนต่างเพศ ต่างอายุ ต่างความรู้ ตลอดถึงมีภูมิหลังที่ต่างกันย่อมก่อให้เกิดปัญหาหลากหลายตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสุขาภิบาล ปัญหามลภาวะ ปัญหาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันและแก้ไขได้ โดยอาศัยคนในสังคมได้ร่วมกันคิดร่วมกันรับผิดชอบ โดยมีองค์กรภาครัฐ เอกชน ตลอดถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางสังคม ได้ส่งเสริมและดำเนินการพัฒนาสังคมในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งกระผมมีความตั้งใจที่จะพัฒนาสังคมจังหวัดแพร่ให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ ผู้คนในสังคมมีชีวิตที่เป็นสุขอย่างยั่งยืน โดยจะดำเนินการ ดังนี้ ด้านสาธารณสุข 3.1 ป้องกัน รักษา และส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 3.1.1 ส่งเสริมการให้ความรู้และสนับสนุนการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง 3.1.2 ส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ 3.1.3 ส่งเสริมสุขภาพอนามัยของเด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส 3.1.4 ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 3.2 ส่งเสริมและสนับสนุนการแพทย์แผนไทย โดยจัดตั้งโรงพยาบาลชุมชนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับการอนุมัติจัดตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถบริการผู้ป่วยที่มีความต้องการรักษาทางการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อทำยา นำมาใช้ในการรักษาและจำหน่ายให้กับสถานพยาบาลอื่น เป็นการสร้างรายได้ให้กับเครือข่ายป่าชุมชน, ครอบครัว และเกษตรกร 3.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลจังหวัด, โรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน ตลอดจนเตรียมการรับการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เกิดการแก้ไขปัญหาทางด้านสุขภาพที่ตรงกับบริบทของพื้นที่ สามารถกำหนดแนวทางการดำเนินงานด้วยตนเอง, ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นของตนเอง มีเอกภาพในการบริหารจัดการ แก้ปัญหาได้รวดเร็ว คล่องตัว ทำให้การป้องกันและระงับการระบาดของโรคต่างๆ ได้ทันเหตุการณ์ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่หลากหลายมากขึ้น และมีความคล่องตัวในการช่วยเหลือผู้ป่วย 3.4 ส่งเสริมและสนับสนุนสุขภาพและสวัสดิภาพให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านสุขภาพและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต โดยผ่านกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดแพร่ ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ได้จัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2563 และปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้านสังคม 3.5 ส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมในชุมชน โดยมีแนวทางดำเนินการดังนี้ 3.5.1 ส่งเสริมกิจกรรมด้านการศาสนาของทุกศาสนา 3.5.2 อนุรักษ์ และสืบสาน แหล่งเรียนรู้ ด้านศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น 3.5.3 ส่งเสริมวัฒนธรรม เอกลักษณ์ และประเพณีท้องถิ่น 3.6 ให้การช่วยเหลือสงเคราะห์ แก่ผู้ประสบภัยจากอุทกภัย, วาตภัย, อัคคีภัย และภัยพิบัติอื่นๆ 3.7 ให้การสงเคราะห์แก่เด็ก เยาวชน สตรี คนชรา ผู้ติดเชื้อเอดส์ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม รวมทั้งช่วยเหลือผู้ยากไร้ โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ในพื้นที่ 3.8 สร้างความปลอดภัยด้านชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยดำเนินการร่วมกับกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เพื่อเพิ่มจุดติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อป้องกันและติดตามการกระทำผิด สามารถเชื่อมโยงระบบการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน (1669) ที่มีอยู่ ให้สามารถลดระยะเวลาการนำส่งผู้ป่วย และแพทย์สามารถสั่งการในการรักษาขั้นต้นได้ทันที เพื่อลดการสูญเสียชีวิต 3.9 ส่งเสริมสนับสนุนการกีฬาและนันทนาการ โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้ 3.9.1 ส่งเสริมการกีฬาขั้นพื้นฐาน การกีฬาเพื่อสุขภาพ และการกีฬาพื้นบ้าน 3.9.2 ส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ และสู่ความเป็นอาชีพของเยาวชนและประชาชน 3.9.3 พัฒนาและปรับปรุงสนามกีฬา สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ 3.10 ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน โดยมีแนวทางดำเนินการดังนี้ 3.10.1 ส่งเสริมและจัดตั้งองค์กรชุมชน เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยความรู้ ความสามารถของตนเอง 3.10.2 ส่งเสริมกิจกรรมเสริมความรู้ ให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี มีจิตใจที่ร่าเริง ร่วมกันทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อเสริมรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพลดภาวะพึ่งพิง และยังสามารถช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ตามความถนัดของแต่ละบุคคล เช่น การจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ ชมรมคนพิการ เป็นต้น 3.10.3 จัดตั้งคลินิกเปลี่ยนทุกข์เป็นสุข ประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันให้คำปรึกษาและคำแนะนำประชาชนต่อผู้ที่มีปัญหาในทุกๆ ด้าน เช่น หนี้นอกระบบ, หนี้ในระบบ, ปัญหาครอบครัว, ปัญหาการเรียน, ปัญหาสุขภาพ และอื่นๆ เพื่อลดภาวะความกดดันที่จะบั่นทอนสุขภาพจิต และสุขภาพกาย ทั้งนี้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ระเบียบกฎหมายท้องถิ่นที่กำหนดไว้ 3.10.4 ส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติด 3.10.5 ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน องค์กรสตรี กลุ่มเยาวชน กลุ่มพ่อบ้าน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มตำรวจบ้าน หน่วยกู้ภัย กาชาด อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่าย พลเรือน (อปพร.) ชุดรักษาความปลอดภัยภายในหมู่บ้าน (ชรบ.) และกลุ่มต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ให้สามารถดำเนินงานเพื่อพัฒนากิจกรรมของกลุ่ม 3.10.6 ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน ลูกเสือชาวบ้านในพระบรมราชูปถัมภ์ 3.11 จัดตั้งคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาด้านการพัฒนาสาธารณสุของค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เพื่อให้คำแนะนำ และร่วมดำเนินการวางแผนหาแนวทาง เพื่อแก้ไขปัญหาในด้านสังคมและสาธารณสุข
  1. นโยบายด้านการพัฒนาการเมืองและการบริหาร
การเมืองและการบริหารเป็นสิ่งที่จะต้องมีการบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลในองค์กร และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ จึงจะทำให้องค์กรสามารถดำเนินการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สามารถดำเนินการพัฒนาให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และตอบสนองได้อย่างตรงเป้าหมายตามความต้องการของประชาชน โดยกระผมได้กำหนดนโยบายการพัฒนาการเมืองและการบริหาร โดยจะดำเนินการ ดังนี้ 4.1 ส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน 4.2 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาและการบริหารงานของท้องถิ่น 4.3 พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดสวัสดิการให้แก่บุคลากรอย่างทั่วถึง 4.4 ส่งเสริมการสร้างระบบการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี 4.5 ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ให้มีประสิทธิภาพ 4.6 ปรับปรุงและพัฒนารายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ให้มีประสิทธิภาพ 4.7 จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ในการป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในพื้นที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่และในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยต่อการเกิดเหตุอันตรายในจังหวัดแพร่ 4.8 จัดทำแผนพัฒนาให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาและระบบการตรวจสอบติดตาม ประเมินผล อย่างต่อเนื่อง 4.9 ส่งเสริมและฟื้นฟูกิจกรรมกลุ่มมวลชนต่างๆ เพื่อสนองตอบนโยบายปรองดอง รู้รักสามัคคีในหมู่ประชาชน และส่งเสริมกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยให้มีความปรองดองสมานฉันท์ 4.10 จัดตั้งคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาด้านการพัฒนาการเมืองและการบริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เพื่อให้คำแนะนำและร่วมดำเนินการวางแผนหาแนวทางและแก้ไขปัญหาการพัฒนาการเมืองและการบริหาร ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกันและให้การบริการสาธารณะ ที่สะดวกรวดเร็วและเป็นธรรม ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญที่ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในหน่วยการบริหารส่วนท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เปรียบเสมือนบันไดที่เชื่อมประสาน ส่งเสริมความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นหน่วยงานที่ผ่านการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในท้องถิ่นของตนอย่างมีประสิทธิภาพ
  1. นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการพัฒนาสิ่งที่มีความจำเป็นอันพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น เช่น การพัฒนาด้านถนน ด้านแหล่งน้ำ ตลอดถึงที่ดิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อได้รับการพัฒนาจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ การเดินทาง ตลอดถึงการติดต่อสื่อสาร ซึ่งจะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 5.1 พัฒนาการใช้ที่ดิน โดยมีแนวทางดำเนินการ พัฒนาระบบการวางผังเมืองรวม และฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยด้านที่ดินทำกินของราษฎร 5.2 ก่อสร้างและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอย่างทั่วถึง โดยเร่งฟื้นฟูความเสียหาย ที่เกิดจากอุทกภัย ด้านสะพาน ถนน รวมทั้งการปรับปรุงถนนเพื่อการเกษตร 5.3 ปรับปรุง/ซ่อมแซม ซ่อมสร้าง หรือบำรุงรักษาถนนที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจจากกรมทางหลวงชนบท 5.4 ปรับปรุงแหล่งน้ำ โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้ 5.4.1 ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โดยการซ่อมแซมและก่อสร้างเหมืองฝายขุดลอกคูคลองเพื่อกักเก็บน้ำ และเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรตามที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ 5.4.2 ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค โดยการเจาะบ่อบาดาลเพื่อการอุปโภค บริโภค และมีการเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือในภาวะขาดแคลนน้ำตามที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ 5.5 จัดตั้งคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เพื่อให้คำแนะนำ และร่วมดำเนินการวางแผนเพิ่มแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
  1. นโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งน้ำ ภูมิอากาศ พื้นดินและป่าไม้ เป็นสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกชุมชนท้องถิ่น ถ้าในชุมชนมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งมีการบริหารจัดการให้ถูกต้อง ก็จะทำให้ชุมชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีสภาพภูมิอากาศที่ดี ไม่มีปัญหามลภาวะเป็นพิษ และลดปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่กระผมต้องการให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนกับพี่น้องประชาชนจังหวัดแพร่ จึงได้กำหนดนโยบายพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนได้มีสัมพันธภาพที่ถูกต้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินการ ดังนี้ 6.1 ขับเคลื่อนศูนย์บริหารจัดการน้ำ โดยเป็นศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับน้ำทุกระบบ สร้างระบบจัดการน้ำที่ทั่วถึง ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ โดยร่วมกับองค์กรต่างๆ ให้ความรู้การบริหารจัดการน้ำทุกพื้นที่ ผ่านโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการโรงเรียนบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง เช่น การสร้างฝายกั้นน้ำให้ถูกต้องตามลักษณะของแต่ละพื้นที่, การลดการสูญเสียในการส่งน้ำด้วยระบบท่อส่งยาง, ขุดลอกแหล่งน้ำต่างๆ ที่ตื้นเขินให้สามารถเก็บน้ำได้มากขึ้น, สร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อให้มีน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำใช้ในภาคการเกษตรอย่างทั่วถึง 6.2 ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการป่าชุมชน ร่วมกับเครือข่ายประชาชนในชุมชนและหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้ป่าชุมชนเป็นป่าเศรษฐกิจ เป็นแหล่งอาหารพื้นบ้าน สร้างรายได้ในชุมชน และลดการเกิดไฟป่า ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองและหมอกควันในอากาศ (PM 2.5) ด้วยการบริหารของเครือข่ายในป่าชุมชนเองโดยการสนับสนุนโครงการฝึกอบรมจากโรงเรียนจัดการป่าชุมชน 6.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย และพัฒนาเชิงปฏิบัติการในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 6.3.1 การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ขยะอันตราย ตลอดจนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และขยะอันตราย 6.3.2 การศึกษาข้อมูลความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานทดแทน 6.3.3 การศึกษาข้อมูลสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อม 6.4 สร้างจิตสำนึกและความตระหนักให้แก่ประชาชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า 6.5 บำบัดและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดถึงดำเนินกิจกรรมตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6.6 ส่งเสริมการปลูกป่าไม้เบญจพรรณและป่าไม้เศรษฐกิจ โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 6.6.1 สนับสนุนกิจกรรมปลูกป่า เพิ่มพื้นที่ป่า ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน 6.6.2 ส่งเสริมการปลูกป่าไม้เศรษฐกิจเพื่อนำไม้มาใช้สอยในครัวเรือน การพาณิชย์และอุตสาหกรรม 6.6.3 ส่งเสริมการปลูกพืชยืนต้นเศรษฐกิจ ทดแทนการปลูกพืชไร่ในพื้นที่ลาดชัด เพื่อลดการพังทลายของดิน ซึ่งอาจจะทำความเสียหายต่อระบบนิเวศ ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 6.7 ก่อสร้างฝายชะลอน้ำ สนับสนุนและส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ให้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตร เพื่อทำให้ผืนป่าชุ่มชื้น 6.8 จัดตั้งคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เพื่อให้คำแนะนำและร่วมดำเนินการวางแผนหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาในด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  1. นโยบายด้านความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
7.1 จัดทำฐานข้อมูลในการพัฒนา เพื่อรวบรวมข้อมูล รายละเอียดประชากรแต่ละบุคคล และข้อมูลรายละเอียดสภาพต่างๆ ของระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ แหล่งน้ำ ความต้องการของประชาชน ข้อมูลทรัพยากรต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดแพร่ เพื่อการพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่น 7.2 สร้างความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน การให้บริการสาธารณะ ที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม เป็นบทบาทสำคัญที่ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เปรียบเสมือนบันไดที่เชื่อมประสานระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ 7.3 สนับสนุนและร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ในการศึกษา วิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ของประชาชน จากนโยบายที่กล่าวมาข้างต้น เป็นนโยบายที่วางไว้บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นจริง ตามสภาวการณ์ ในปัจจุบัน บางนโยบายจักต้องดำเนินการให้บรรลุผลโดยเร็ว บางนโยบายจักต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาและงบประมาณประจำปีที่มีอยู่ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ได้ร่วมกันทำงานเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลตามนโยบายที่ได้แถลงไว้และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน กรณีมีปัญหาความเดือดร้อนที่สำคัญและจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยด่วน และจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในห้วงเวลานั้น และจะต้องเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ของจังหวัด ที่ได้กำหนดไว้ให้ท้องถิ่นนำมาปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและเกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนชาวจังหวัดแพร่ต่อไป  

ขอขอบคุณ